ข้ามไปหน้าหลัก
ความต่อเนื่องทางธุรกิจ

ทำความเข้าใจการระบาดใหญ่ทั่วโลกและการปกป้องธุรกิจของคุณในภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ

05/2021
emergency sign

ตั้งแต่โรคซาร์สและไข้หวัดใหญ่ H1N1 มาจนถึงอีโบลาและไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ยิ่งทำให้เกิดความกังวลต่อการระบาดใหญ่ทั่วโลกและภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพอื่นๆ ขึ้นโดยทั่วไป แม้ว่าจะมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อบุคคลและสังคมจากการระบาดของโรคดังกล่าวเป็นอย่างดีแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลต่อธุรกิจและพนักงานของคุณอย่างไรได้บ้าง

คู่มือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจถึงปัญหาสำคัญและวิธีปกป้องธุรกิจของคุณให้อยู่รอดปลอดภัย

 

การระบาด/โรคระบาด/การระบาดใหญ่ทั่วโลกคืออะไร

การระบาด โรคระบาด และการระบาดใหญ่ทั่วโลกเป็นคำที่มักจะถูกนำมาใช้แทนกันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งสามคำนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็มีความแตกต่างที่สำคัญในนิยามของแต่ละคำ โดย
 

  • โรคระบาด (Epidemic) – การเพิ่มจำนวนเคสของโรคหนึ่งมากเกินกว่าที่คาดไว้ตามปกติสำหรับจำนวนประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน
  • การระบาด (Outbreak) – คำนิยามเหมือนกับโรคระบาดแต่จะใช้ในแง่ของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีวงจำกัดมากกว่า
  • การระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) – โรคระบาดที่แพร่กระจายในประเทศหรือทวีปต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะส่งกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก

คำว่า “เหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ” มีความหมายครอบคลุมคำนิยามของทั้งสามคำที่ได้กล่าวไป

 

คุณจะปกป้องธุรกิจของคุณให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร

มีปัจจัยมากมายที่อาจทำให้การดำเนินธุรกิจที่สำคัญต้องหยุดชะงักในระหว่างที่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพที่แพร่กระจายอื่นๆ เช่น อัตราการขาดงานของแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และอุปสงค์ของลูกค้าลดลง ถึงแม้ธุรกิจของคุณจะประสบกับความเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวไปข้างต้น คุณก็ยังสามารถดำเนินการตามวิธีการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้ได้ เช่น การทำแผนคุ้มครองสุขภาพฉุกเฉินเป็นต้น

 

  1. สุขภาพของพนักงาน

    จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในประเทศจีน ทำให้ภาคธุรกิจยิ่งต้องจัดเตรียมข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้แก่พนักงาน เพื่อที่พวกเขาจะได้ทราบถึงวิธีการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาจสัมผัสกับบุคคลที่มีความเสี่ยง ไม่ว่าจากในบ้านหรือในที่ทำงานก็ตาม

  2. การทำงานทางไกล

    ระหว่างที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ อัตราการขาดงานของพนักงานอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จึงควรพิจารณาว่าธุรกิจของคุณจะสามารถดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่ หากดำเนินการด้วยแรงงาน 50-60% ของจำนวนแรงงานที่มี และการทำงานที่บ้านเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับพนักงานของคุณหรือไม่

  3. การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

    แรงงานที่ลดจำนวนลงและข้อจำกัดด้านการเดินทางที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางข้ามชายแดน อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานที่ธุรกิจของคุณพึ่งพาอาศัยอยู่อย่างมีนัยสำคัญ ธุรกิจจำนวนมากซื้อวัตถุดิบหรืออะไหล่ส่วนประกอบแบบด้วยระบบแบบ “ส่งทันเวลาพอดี” แต่หากไม่มีการส่งวัสดุเหล่านี้มาเป็นประจำ ธุรกิจของคุณจะผลิตและส่งมอบสินค้าต่อไปได้อีกนานเพียงใด เช่นเดียวกัน หากบริการขนส่งของคุณได้รับผลกระทบจากการขาดงานของแรงงาน คุณจะยังสามารถส่งสินค้าไปยังตลาดได้อีกไหม

    ในกรณีของบริษัทที่ทำธุรกิจการบริการเป็นหลัก การเข้าถึงลูกค้าอาจเป็นเรื่องยาก การสร้างความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าจากทางไกล เช่น ผ่านทางการประชุมทางไกล คือสิ่งที่คุณควรวางแผนตั้งแต่ตอนนี้

  4. รูปแบบการค้า

    เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก คนทั่วไปอาจพยายามลดการติดต่อสัมผัสกับบุคคลอื่นๆ ทำให้บางอุตสาหกรรม เช่น การพักผ่อน การท่องเที่ยว และอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านี้อย่างมหาศาล

    โดยผู้บริโภคอาจมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยในการจับจ่ายใช้สอยด้วยการหันไปพึ่งพาระบบอีคอมเมิร์ซและบริการส่งถึงบ้านเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงควรพิจารณาว่าคุณสามารถวางแผนเพิ่มหรือปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานใดได้บ้างเพื่อให้สามารถให้บริการในลักษณะดังกล่าวได้

การวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

โดยปกติแล้ว การวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องจะสามารถแก้ปัญหาที่อาจเกิดจากภัยพิบัติในท้องถิ่น อย่างเช่น พายุเฮอร์ริเคน อุทกภัย อัคคีภัย และการหกของสารเคมี และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสและการเกิดโรคครั้งใหญ่ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

การวางแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพจะคล้ายคลึงกับการวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั่วไป และอาจมีขั้นตอนบางส่วนที่เหมือนกันด้วย

เมื่อทำการพัฒนาแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและ/หรือแผนฉุกเฉินด้านสุขภาพ สิ่งสำคัญคือควรขอแรงสนับสนุนจากฝ่ายบริหารระดับสูงและกำหนดตัวผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลขั้นตอนต่างๆ แผนดังกล่าวนี้ควรแสดงให้เห็นถึงทั้งวิธีการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินและขั้นตอนที่จะดำเนินการเพื่อกอบกู้ธุรกิจให้กลับมาสู่สภาวะปกติ

ทีมฝ่ายทรัพยากรบุคคลของคุณควรเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการวางแผนตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินด้วยเช่นกัน ธุรกิจต่างๆ ควรร่วมมือกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลในการพิจารณาทางเลือกรูปแบบการทำงานต่างๆ ที่องค์กรสามารถนำไปใช้ได้ ตั้งแต่การทำงานทางไกลไปจนถึงระเบียบว่าด้วยสุขอนามัยในท้องถิ่นเฉพาะด้าน

โปรดระลึกไว้เสมอว่าอาจมีปัจจัยมากมายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณ แต่การที่คุณบังคับใช้แผนตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของคุณจะยังอยู่รอดและพนักงานของคุณปลอดภัยจากโรคภัยใดๆ ทั้งปวง

 

แหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์

การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นประจำนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจาก WHO เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สั่งการและประสานงานด้านสุขภาพภายในองค์การสหประชาชาติ

iCenters for Disease Control and Prevention (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ) , Introduction to Epidemiology (ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบาดวิทยา).

สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

ติดต่อเราผ่านช่องทางออนไลน์
ติดต่อเราผ่านช่องทางออนไลน์

ให้ชับบ์ปกป้องดูแลคุณ

โปรดติดต่อเราเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองจากความเสี่ยงต่างๆ