ข้ามไปหน้าหลัก
การจัดการด้านการเงิน

เกษียณสุขใจ ไร้กังวล เตรียมรับมือค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

09/2024
guy smiling

การวางแผนเกษียณที่ดีเปรียบเสมือนการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคต หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดคือ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ เพราะจะช่วยให้รู้ว่าต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่ เพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน
 

วิธีประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

การประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างละเอียด เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้วางแผนการเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีการประเมินคร่าว ๆ สามารถทำได้ ดังนี้
 

1. วางแผนค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์หลังเกษียณ


ก่อนเริ่มต้นประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอยากให้ทุกคนลองตอบคำถามกันก่อนว่าตัวเองมีไลฟ์สไตล์หลังเกษียณแบบไหนกันบ้างเพื่อเตรียมเงินให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ  

1. เกษียณแบบประหยัด สายพอเพียง คือ การเกษียณแบบพอเพียง ประหยัดค่าใช้จ่าย ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่ในที่ที่ค่าครองชีพไม่สูง เงินที่เตรียมไว้จะรองรับเพียงแค่ ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่ายารักษาโรค ค่ารักษาพยาบาล โดยเงินที่เตรียมจะไม่รวมค่าความบันเทิงต่าง ๆ

2. เกษียณแบบชีวิตแบบคงเดิม คือ การเกษียณที่ยึดไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบเดิมเอาไว้ โดยรักษามาตรฐานความเป็นอยู่แบบเดิม ก่อนเกษียณและหลังเกษียณ ควรคำนวณเงินเผื่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตไปถึงปีที่วางแผนจะเกษียณด้วยเช่นเดียวกัน

3. เกษียณแบบลักซัวรี่ คือ การเกษียณที่จะใช้ชีวิตแบบสะดวกสบายกว่าเดิม สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปท่องเที่ยว และ ให้รางวัลชีวิตกับตัวเองได้อย่างเต็มที่ จำเป็นต้องมีเงินเกษียณเตรียมไว้ และควรมีเงินที่สามารถสร้างรายได้หลังเกษียณรวมอยู่ด้วย เช่น ประกันบำนาญ
 
 

2. คำนวณค่าใช้จ่ายปัจจุบัน

เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวนค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ให้แยกประเภทค่าใช้จ่ายออกเป็นหมวดหมู่ย่อย ๆ เช่น

● อาหาร: ค่าวัตถุดิบทำอาหารกินเองที่บ้าน ค่าอาหารนอกบ้าน ค่าขนม ค่าเครื่องดื่ม

● ที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค: ค่าเช่าหรือผ่อนบ้าน ค่าประกันภัยบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์

● การเดินทาง: ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าน้ำมันรถ ค่าบำรุงรักษารถ ค่าทางด่วน

● สุขภาพ: ค่าประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าตรวจสุขภาพ

● บันเทิง: ค่าดูหนัง ค่าฟังเพลง ค่าช้อปปิ้ง ค่าเดินทางท่องเที่ยว

● อื่นๆ: ค่าเสื้อผ้า ค่าตัดผม ค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ

การแยกประเภทค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดจะช่วยให้เข้าใจรูปแบบการใช้จ่ายของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และวางแผนค่าใช้จ่ายหลังเกษียณได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังหาจุดที่สามารถประหยัดได้อีกด้วย


3. ปรับค่าใช้จ่ายตามแผนเกษียณ

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ น่าจะมีประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

● ไลฟ์สไตล์: หากวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างเรียบง่าย ค่าใช้จ่ายอาจต่ำกว่า 70% แต่หากต้องการท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายอาจมากกว่า 70%

คำแนะนำ: งานอดิเรกสุด แฮปปี้ ของคนวัยเกษียณ งานฝีมือหรืองานศิลปะ การอ่านและการเขียน กิจกรรมทำอาหารหรือทำขนมขาย การเรียนดนตรีและการเต้นรำสำหรับผู้สูงอายุ และการออกกำลังเพื่อสุขภาพ

● สุขภาพ: ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะค่าประกันและค่ารักษาพยาบาล มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามวัย ดังนั้น ควรเผื่อค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มเติม

● เงินเฟ้อ: เงินเฟ้อจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ดังนั้น ควรเผื่อค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเฟ้อในอนาคตด้วย

● ครอบครัว: หากมีสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในวัยชราที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้น
 
 

4. พิจารณาแหล่งเงินรายได้หลังเกษียณ

เมื่อทราบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาแหล่งเงินรายได้หลังเกษียณ ซึ่งอาจมาจาก

● เงินออม: เงินออมจากการทำงาน เงินลงทุน และเงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เบี้ยเลี้ยงเกษียณ: กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

● ธุรกิจส่วนตัว: กรณีที่มีธุรกิจส่วนตัว รายได้จากธุรกิจอาจเป็นแหล่งเงินรายได้หลังเกษียณ

 

5. เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับรายได้

นำค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ประเมินไว้มาเปรียบเทียบกับรายได้หลังเกษียณที่คาดว่าจะได้รับ

● หากรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย: แสดงว่ามีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ

● หากรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย: แสดงว่าต้องหาเงินเพิ่ม เช่น ทำงานต่อหลังเกษียณ ลงทุนเพิ่มเติม หรือลดค่าใช้จ่าย

 

6. ปรับแผนให้เหมาะสม

หากรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นต้องปรับแผนการเงิน เช่น ลดค่าใช้จ่าย หาเงินเพิ่มหรือเลื่อนอายุเกษียณ

 

7 ค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ควรเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ


1. ค่าบ้าน


ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ค่าดูแลซ่อมแซมบ้าน ค่าประกันภัยบ้าน ค่าคนทำสวนและตัดแต่งต้นไม้ โดยเฉพาะค่าผ่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นเงินก้อนโตที่ต้องแบกรับไว้ ถ้าเป็นไปได้ควรเร่งจ่ายให้หมดก่อนที่จะเกษียณดีที่สุด เพราะจะได้ไม่กระทบกับงบประมาณในหมวดนี้มากมายนัก อย่างไรก็ตาม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางเลือกอื่นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับค่าผ่อนบ้านก็มี เช่น การขายบ้านหลังใหญ่และไปอยู่บ้านหลังเล็ก ซึ่งช่วยให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้านลดลงด้วย หรือการเช่าบ้านที่ราคาไม่แพงอยู่ เป็นต้น
 

2. ค่าอาหาร

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับทุกคน เราสามารถประหยัดค่าอาหารได้ โดยวางแผนการช้อปให้ดี ดูว่ามีอะไรขาดและจดไว้ จากนั้นก็ไห้ซื้อตามรายการและอย่าหวั่นไหวกับสิ่งล่อใจ สำหรับสินค้าลดราคา หากเป็นสินค้าที่ใช้บ่อยๆ ก็อาจจะซื้อตุนไว้พอสมควร แต่ก็ไม่มากเกินไปจนไม่มีที่เก็บและให้ระวังวันหมดอายุไว้ด้วย นอกจากนี้ บางคนอาจจะชอบทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากต้องการประหยัดในส่วนนี้ ก็อาจจะลดความถี่การทานอาหารนอกบ้านดู เลือกร้านที่ไม่แพงมาก หรือเช็คดูโปรโมชั่นก่อนไปทาน เป็นต้น  

3. ค่าเสื้อผ้า

เสื้อผ้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งจำเป็นที่ต้องใช้ ควรตั้งงบประมาณให้ชัดเจนว่าแต่ละเดือนสามารถใช้ได้เท่าไร และอาจจะมองหาโปรโมชั่นเวลาช้อปด้วย เพราะทำให้ได้เสื้อผ้ามากขึ้นในงบประมาณเท่าเดิม
 

4. ค่ารักษาพยาบาล

แน่นอนว่าอายุที่มากขึ้น โอกาสที่จะเกิดการเจ็บป่วยก็มากขึ้น สำหรับคนไทยแล้ว ถือเป็นความโชคดีที่ได้รับสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยทั่วไปหรือเจ็บป่วยหนักก็ได้รับการดูแล อย่างไรก็ดี หากต้องการความรวดเร็ว รวมทั้งคุณภาพการรักษาและบริการที่เลือกได้ ประกันสุขภาพถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ควรพิจารณา แม้ว่าราคาจะไม่ถูก โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็คุ้มค่ากว่าการสูญเสียเงินก้อนใหญ่ในวัยเกษียณไปกับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงเวลาที่เหลือด้วย  
 

5. ค่าสาธารณูปโภค

เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ตบ้าน ค่าเคเบิลทีวี ค่าคนเก็บขยะ ค่าส่วนกลางสำหรับหมู่บ้านหรือคอนโด เป็นต้น ซึ่งเมื่อรวมทุกรายการก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อยที่ต้องจ่ายเป็นประจำ หลายรายการก็สามารถประหยัดได้ เช่น ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้โดยไม่จำเป็น เปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าที่ด้อยประสิทธิภาพและกินไฟ เลือกแพคเกจมือถือและอินเตอร์เน็ตให้เหมาะกับปริมาณการใช้งาน หรือเปลี่ยนแผนเคเบิลทีวีเป็นแผนที่ถูกลง หากมีหลายช่องแล้วดูไม่คุ้ม เป็นต้น  

6. ค่าเดินทางในชีวิตประจำวัน

สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้แก่ ค่าน้ำมัน และค่าบำรุงซ่อมแซมรถยนต์ เป็นต้น บางทีอาจจะต้องมีการซื้อรถยนต์ใหม่สักครั้งหนึ่งในช่วงวัยเกษียณด้วย นอกจากนี้ เมื่อเข้าวัยชราภาพ อาจจะขับรถยนต์เองไม่ได้ จำเป็นต้องใช้แท็กซี่ด้วย ส่วนคนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก เงินค่าใช้จ่ายก้อนนี้ก็จะสามารถประหยัดเงินได้พอสมควร และค่าบริการของขนส่งสาธารณะมักจะมอบอัตราพิเศษสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปด้วย
 

7. ค่าสันทนาการและกิจกรรมทางสังคม

ได้แก่ กิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย งานอดิเรก การท่องเที่ยว ค่าของขวัญ เงินบริจาค และเงินช่วยเหลือ เป็นต้น มีหลายกิจกรรมยามว่างที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลยหรือหากใช้ก็ไม่มาก เช่น การออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ หรือการเที่ยววนอุทยานทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ หลายแห่งก็มีส่วนลดพิเศษให้กับผู้สูงอายุด้วย สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว สมัยนี้ทำได้สะดวกขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ มีทั้งส่วนลดโปรโมชั่น และรีวิวต่างๆ ให้อ่านก่อนตัดสินใจ สำหรับแผนเดินทางท่องเที่ยวทั้งนอกประเทศและในประเทศควรรีบทำแต่เนิ่นๆ หลังเกษียณ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นการเดินทางไกล อาจจะลำบากเพราะร่างกายอาจไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร

เคล็ดลับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไรให้มีความสุขโดยไม่ต้องเปลืองเงิน

● หมั่นดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

● อย่าละเลยสุขภาพจิต แม้จะผ่านร้อนทุกข์สุขมาเยอะ แต่สุขภาพจิตนั้นจะเปราะบางขึ้นเพราะมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น

● หางานอดิเรกทำ เพื่อคลายความเบื่อหน่ายในแต่ละวัน เช่น ปลูกผักสวนครัว ทำอาหาร งานฝีมือ งานศิลปะ จิตอาสา ออกกำลังกาย เป็นต้น

● อย่าลืมเข้าสังคม ผู้สูงอายุหลาย ๆ คน ต้องอยู่ตัวคนเดียว เพราะไม่มีครอบครัว เพื่อนร่วมงาน วัยนี้จึงเหงาเป็นพิเศษเพราะไม่มีเพื่อนข้างกาย หากอยากให้ชีวิตมีสีสันลองเริ่มเล่นโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น เพื่อหาเพื่อนกลุ่มใหม่ ๆ ในโลกออนไลน์

 

ดังนั้นเพื่อการเกษียณอย่างสุขใจ ไร้กังวลว่าจะไม่มีเงินใช้เพียงกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ การเริ่มต้นออมเงินตั้งแต่อายุน้อยจึงเป็นการลงทุนในอนาคตที่สำคัญ เพราะจะช่วยสร้างพื้นฐานทางการเงินและนิสัยการออมที่ดีให้กับชีวิต รวมถึงการเลือกทำประกันชีวิตเพื่อวางแผนเกษียณไว้เพื่อป้องกันความไม่แน่นอนทางการเงินในอนาคต ซึ่งช่วยทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีรายได้ที่เพียงพอในการใช้ชีวิตในยามเกษียณได้อย่างมีความสุข และอุ่นใจมากขึ้นตามความตั้งใจที่ปรารถนา
 
 

สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

ติดต่อเรา 

ให้ ชับบ์ ไลฟ์ ปกป้อง ดูแลคุณ

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อเรา เพื่อรับคําแนะนําเกี่ยวกับการปกป้อง คุ้มครองจากความเสี่ยงต่างๆ