ข้ามไปหน้าหลัก
ประกันชีวิต

แนวทางวางแผนการเงินส่วนบุคคลฉบับวัยหนุ่มสาว

05/2024
colleagues walking together

ช่วงวัยหนุ่มสาวมักอยู่ในช่วงอายุแห่งการ “สร้างความมั่นคงเพื่ออนาคต” เพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตนเอง และเตรียมเริ่มสร้างครอบครัว เนื่องจากช่วงวัยนี้จะเป็นวัยที่มีรายได้สูงขึ้นระดับหนึ่ง หน้าที่การงานก้าวหน้า ยิ่งเมื่อมีรายรับที่เพิ่มขึ้นแล้ว ควรรู้จักใช้และรู้จักออมด้วย รวมถึงเริ่มศึกษาการลงทุนเพื่อสานฝันตามเป้าหมาย และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ลองมาดูตัวอย่างแนวทางวางแผนการเงินส่วนบุคคลดังต่อไปนี้

 

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล คืออะไร

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล (personal financial planning) คือ กระบวนการจัดการเงินอย่างมีระบบโดยจะครอบคลุมแผนการเงินทุก ๆ ด้านในชีวิต เช่น การวางแผนการลงทุน การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การวางแผนภาษี เป็นต้น การวางแผนการเงินส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ และเพื่อความมั่นคงในอนาคต

 

7 ขั้นตอนวางแผนการเงินส่วนบุคคล

ขั้นตอนที่ 1. ตั้งเป้าหมายทางการเงิน
 

ตั้งเป้าหมายทางการเงิน เริ่มต้นด้วยการถามตัวเองว่า ความต้องการในชีวิตคืออะไร เช่น ต้องการมีบ้าน สร้างครอบครัว หรือต้องการมีอิสระทางการเงิน ท่องเที่ยวได้รอบโลก และมีเงินใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งเมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วให้เราทำการกำหนดระยะเวลาที่อยากบรรลุเป้าหมาย โดยการตั้งเป้าหมายให้ “SMART” คือ

S : Specific เจาะจงถึงเป้าหมายที่ต้องการ

M : Measurable เป้าหมายนั้นจำเป็นต้องวัดผลได้

A : Achievable คือการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยใส่ระบุรายละเอียดที่จะลงมือปฏิบัติเพื่อบรรลุไปถึงเป้าหมายนั้น โดยที่ต้องมีความ

R : Relevant คือมีความเกี่ยวข้องหรือสอดคล้องเพื่อการไปถึงเป้าหมายใหญ่ด้วย และ

T : Time-bound มีกรอบเวลาที่กำหนด คือการกำหนดเวลาสุดท้ายที่ต้องทำให้เสร็จ

เมื่อเราตั้งเป้าตามกลยุทธ์ของ SMART แล้ว จะส่งผลให้โอกาสในการประสบความสำเร็จมีมากขึ้น


ขั้นตอนที่ 2. เริ่มต้นออมเงินให้เป็นนิสัยอย่างสม่ำเสมอ

ควรออมเงินอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ หรืออาจจะมากกว่า ก็แล้วแต่ศักยภาพของแต่ละคน เงินออมที่สะสมไว้นี้สำหรับตอบโจทย์แผนอนาคตระยะสั้นและยาว เช่น ทุนการศึกษาบุตร ต่อเติมหรือซื้อบ้านใหม่ ตั้งต้นทำธุรกิจ เงินใช้จ่ายยามเกษียณ หรือไว้ใช้ยามฉุกเฉินในกรณี เจ็บป่วย ตกงาน เป็นต้น อย่างน้อยควรจะออมเงินไว้เท่ากับรายได้ต่อเดือนประมาณ 6-10 เดือนขึ้นไป ซึ่งการออมรูปแบบนี้ควรเลือกแบบที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เพราะหากจำเป็นต้องใช้ ก็สามารถเบิกได้เลยทันที ทั้งนี้ หากมีเหลือเก็บเป็นเงินเย็นก็ควรลองพิจารณาแบ่งเป็นการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ด้วย

 

ขั้นตอนที่ 3. ทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย

เมื่อรู้จักออมเงินจนป็นนิสัยแล้วขั้นตอนต่อมาคือการทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพราะการทำบันทึกจะช่วยให้ทราบถึงสถานะทางการเงินของเราว่ามีเงินเข้า-ออกเท่าไหร่ ใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ช่วยให้สามารถวางแผนการเงินส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถจัดสรรเงินไว้สำหรับลงทุนได้ ซึ่งเราจะมาแนะนำวิธีการลงทุนในขั้นตอนต่อไป

 

ขั้นตอนที่ 4. ลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน

เมื่อออมเงินได้มากขึ้นจากการทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย แล้ว ก็ควรแบ่งเงินไว้สำหรับการลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า สำหรับหนุ่มสาววัยทำงานแนะนำว่าควรเลือกลงทุนแบบผสมที่มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูงควบคู่กันไปเพื่อโอกาสการรับผลตอบแทนที่มากขึ้น ทั้งนี้ สัดส่วนขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินและระดับความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคน ที่สำคัญควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเพราะการลงทุนแต่ละแบบมีจุดเด่น จุดด้อย ระดับความเสี่ยง และโอกาสรับผลตอบแทนที่ต่างกัน สำหรับประเภทการลงทุนแบบเบื้องต้นทั่วไป ได้แก่

 

ตราสารหนี้ระยะสั้น 

คือตราสารทางการเงินที่ผู้ออกตราสารหนี้มีภาระหน้าที่ในการจ่ายดอกเบี้ยและมูลค่าไถ่ถอนให้แก่เจ้าหนี้หรือนักลงทุนในตราสารหนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนระยะสั้นๆ โดยมีระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี หรือมากกว่า 1 ปี และมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนแบบจ่ายตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น ทุก 3 เดือน, 6 เดือน หรือทุกปี และจะมีการจ่ายเงินต้นคืนหรือมูลค่าไถ่ถอนเมื่อครบสัญญา ข้อดีของการลงทุนประเภทนี้คือนักลงทุนได้รับกระแสเงินสดสม่ำเสมอ สามารถวางแผนการเงินได้ง่าย และมีความเสี่ยงต่ำมาก ส่วนข้อด้อยคือผลตอบแทนที่ได้รับก็อาจจะต่ำซึ่งบางภาวะของตลาด ผลตอบแทนอาจต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียอีก

พันธบัตร

คือตราสารทางการเงินซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนสถาบันและประชาชนทั่วไป โดยผู้ออกพันธบัตรมีฐานะเป็นลูกหนี้ และผู้ถือพันธบัตรมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ปกติพันธบัตรจะมีอายุยาวมากกว่า 1 ปี ส่วนมากอยู่ระหว่าง 5-30 ปี ข้อดีคือความเสี่ยงต่ำ เพราะมีรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจเป็นลูกหนี้ ผลตอบแทนที่ได้รับคือดอกเบี้ย ซึ่งเป็นอัตราที่ผู้ออกพันธบัตรระบุไว้ตั้งแต่แรก และจ่ายให้กับผู้ลงทุนตลอดอายุของพันธบัตร อย่างไรก็ดี กำไร/ขาดทุนจากการขายอาจเกิดขึ้นได้ กรณีที่ผู้ลงทุนขายพันธบัตรก่อนครบกำหนดซึ่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขาย

หุ้นกู้

จัดอยู่ในประเภทตราสารหนี้ระยะยาวคล้ายกับพันธบัตร ต่างกันตรงที่ผู้กู้เพื่อระดมทุนหรือลูกหนี้คือบริษัทเอกชน ส่วนผู้ลงทุนคือเจ้าหนี้ ทั้งนี้ เงื่อนไขของระยะเวลาและการจ่ายผลตอบแทนจะแตกต่างกันแล้วแต่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ ปกติบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูง มักจะให้ผลตอบแทนในระดับกลาง แต่บริษัทที่ได้เรทติ้งความน่าเชื่อถือต่ำกว่า มักจะให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็แลกกับความเสี่ยงของผู้ลงทุน หากคิดจะลงทุนในหุ้นกู้แล้ว ควรศึกษาบริษัทที่ออกหุ้นกู้ให้ดี ต้องดูมีความมั่นคง มีโอกาสเติบโต และมีความสามารถในการชำระหนี้คืน รวมทั้งศึกษาเงื่อนไขของหุ้นกู้ให้ดี เช่นหุ้นกู้ที่เสนอเป็นแบบมีประกันหรือไม่มี ด้อยสิทธิหรือไม่ด้อยสิทธิ เพราะหากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้ โอกาสที่พอจะได้เงินต้นคืนมาบ้างยังพอมีอยู่ไม่มากก็น้อย

ลงทุนในตลาดหุ้น

เป็นการซื้อสิทธิความเป็นเจ้าของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผลตอบแทนจะมาจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น รวมถึงเงินปันผล แต่มีโอกาสขาดทุนจากราคาหุ้นที่ลดลงได้ ซึ่งนับว่ามีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน ทั้งนี้ ควรศึกษาข้อมูลก่อนลงทุนเสมอ และกำหนดสัดส่วนการลงทุนชนิดนี้ไม่ให้มากเกินไป ควรอยู่ในระดับที่รับความเสี่ยงได้ หรือหากไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจลงทุนผ่านกองทุนฯ ที่มีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้นแทน เพื่อลดความเสี่ยงลง เนื่องจากให้ผู้จัดการกองทุนบริหารเงินลงทุนแทนเรา

ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

สำหรับวัยทำงานบางคนอาจมองหาโอกาสลงทุนในทรัพย์สินที่เพิ่มมูลค่า เช่น ที่ดิน บ้าน หรือคอนโด อาจเพื่ออยู่อาศัยเอง หรือให้เช่า ซึ่งการลงทุนแนวนี้แม้จะเป็นการสร้างภาระหนี้ก้อนใหญ่ แต่ก็คุ้มค่าหากเลือกทำเลถูก เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอดทุกปี แต่อย่างไรก็ควรศึกษาและประเมินความพร้อมก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากแนวทางนี้เป็นการลงุทนที่มีสภาพคล่องต่ำ ทั้งนี้หากต้องกู้ยืม ในส่วนของภาระหนี้สินที่จ่ายแต่ละเดือนควรรักษาให้ไม่เกิน 30% ของรายได้ เพื่อไม่เป็นภาระกับตัวเองจนเกินไป และยังพอมีเงินเหลือใช้เหลือเก็บบ้างในแต่ละเดือน และเผื่อจำเป็นต้องใช้กรณีฉุกเฉิน

 

ขั้นตอนที่ 5. รู้จักบริหารภาษี

เมื่อหลายคนมีรายได้ที่สูงขึ้นจากการลงทุนแล้ว ฐานภาษีก็เพิ่มในอัตราก้าวหน้าตาม ทำให้การรู้จักบริหารภาษีจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ซึ่งรัฐบาลก็เปิดโอกาสให้การออมหลายแบบสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ฯลฯ ในระยะยาวการออมเพื่ออนาคตนั้นคือหลักสำคัญ แต่ในระยะสั้นก็ถือว่าสร้างผลตอบแทนได้ทันทีจากเงินคืนภาษีตามฐานภาษีของแต่ละคนดังนั้นควรเลือกรูปแบบการออมและระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงิน รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับข้อกำหนดของกรมสรรพากรเพื่อผลประโยชน์สูงสุดที่ควรจะได้รับด้วย

 

ขั้นตอนที่ 6. ลดความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดคิด เช่น เจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ

สำหรับแนวทางการออม และลงทุนเพื่ออนาคตก็เปรียบเสมือนเกมรุก แต่จะให้สมบูรณ์แล้วควรมีเกมรับที่ดีด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อคุณเจ็บป่วยและต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเป็นโรคร้ายแรง หรือเกิดอุบัติเหตที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียจนกระทบต่อการงานหรือรายได้ หรือกระทั่งทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาตัวก้อนโต ซึ่งอาจต้องนำเงินออมหรือเงินลงทุนมาใช้จ่ายกับเหตุฉุกเฉินเหล่านี้แทน สุดท้ายแล้วแผนการออมที่วางไว้ต้องเป็นอันต้องสะดุดหรือพับไป การลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากเหตุไม่คาดคิดให้เหลือน้อยที่สุดคือพื้นฐานที่จำเป็นของการรักษาและเพิ่มพูนสินทรัพย์ที่มีอยู่ ดังนั้นการเลือกทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพและประกันภัยเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะความเจ็บป่วยและอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 7. ทบทวนแผนการเงินอยู่เสมอ

การทบทวนแผนการเงินเปรียบเสมือนการตรวจสอบแผนที่นำทางชีวิตให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจ รายได้และรายจ่ายอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย ทำให้แผนเดิมที่วางไว้ในอดีตอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจุบัน ดังนั้นการทบทวนแผนการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ายังสามารถปรับเปลี่ยนแผนการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง

 

สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

ติดต่อเรา 

ให้ ชับบ์ ไลฟ์ ปกป้อง ดูแลคุณ

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อเรา เพื่อรับคําแนะนําเกี่ยวกับการปกป้อง คุ้มครองจากความเสี่ยงต่างๆ