ข้ามไปหน้าหลัก
ประกันชีวิต

เตรียมเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้อย่างไรดี

04/2024
businessman thinking


เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่งที่สามารถเริ่มเก็บเงินได้แล้ว เงินเก็บก้อนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ เงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งอันที่จริงเงินส่วนนี้ก็คือเงินที่เก็บออมเงินไว้เพื่อเป้าหมายอะไรบ้างอย่าง เช่น การซื้อบ้าน แต่สำหรับเงินสำรองฉุกเฉินนี้เก็บเพื่อเป็นเงินก้อนไว้ใช้ในยามจำเป็นจริงๆ เช่น คุณอาจจะตกงานและขาดรายได้ หรือเกิดเจ็บป่วยกะทันหันต้องรักษาตัว ฯลฯ 

 

เงินสำรองฉุกเฉิน คืออะไร 

สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ เงินสำรองฉุกเฉิน เปรียบเสมือน "เข็มขัดนิรภัยทางการเงิน" เป็นเงินออมที่เก็บไว้สำหรับ "เหตุการณ์ไม่คาดฝัน" เพื่อช่วยให้คุณผ่านพ้นวิกฤตโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน นั้นเอง

 

เหตุผลที่เราควรมี เงินสำรองฉุกเฉิน

  • ตกงาน: ช่วยให้ยังมีรายได้สำรองระหว่างหางานใหม่
  • เจ็บป่วย: ช่วยให้มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล
  • รถเสีย: ช่วยให้มีเงินซ่อมแซมรถ
  • ภัยธรรมชาติ: เช่น น้ำท่วม ช่วยให้มีเงินใช้จ่ายในช่วงที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้
  • ปัญหาครอบครัว: ช่วยให้มีเงินช่วยเหลือครอบครัว

     

เงินสำรองฉุกเฉิน ควรมีสำรองเท่าไร

เงินสำรองฉุกเฉินในส่วนนี้ควรเก็บอยู่ในระดับที่พอเหมาะ และเตรียมไว้ให้เพียงพอต่อความจำเป็น เช่น อาจจะประเมินจากรายจ่ายต่อเดือน แล้วลงมือเก็บให้ได้สัก 6-10 เท่า เช่น สมมุติค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเริ่มต้นที่ 90,000 บาท แต่ทั้งนี้ สามารถปรับเปลี่ยนตามสภาวะความเสี่ยงของแต่ละบุคคลคนได้เช่นกัน

 

วิธีการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน

วิธีเก็บเงินสำรองฉุกเฉินสามารถทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้:
 

1. ประเมินค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน

ทำการรวบรวมค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในชีวิตประจำวันทั้งหมด เช่น ค่าเช่าบ้าน, ค่าสาธารณูปโภค, ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, ค่าสุขภาพ, และค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
 

2. ตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออก

ตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายและตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพื่อปรับปรุงการเงินและเพิ่มเงินสำรองฉุกเฉิน
 

3. กำหนดจำนวนเดือนที่ต้องการเงินสำรอง

กำหนดจำนวนเดือนที่ต้องการจะใช้เงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน สำหรับบางคนอาจเลือกใช้ 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายรวมต่อเดือน ในขณะที่บางคนอาจต้องการมากกว่านั้น

 

วิธีคำนวณเงินสำรองฉุกเฉิน

หลังจากกำหนดจำนวนเดือนที่ต้องการเงินสำรองแล้ว ให้คำนวณจำนวนเงินทั้งหมดโดยการคูณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนกับจำนวนเดือนที่ต้องการ เช่น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนคือ 20,000 บาท และต้องการเงินสำรองฉุกเฉินเป็น 6 เดือน ดังนั้น จำนวนเงินสำรองฉุกเฉินทั้งหมดคือ 20,000 * 6 = 120,000 บาท โดยการคำนวณเงินสำรองฉุกเฉินนี้ จะช่วยให้จัดการเงินได้อย่างมั่นคงและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

วิธีเก็บเงินสำรองฉุกเฉินตามกลุ่มอาชีพ

1. กลุ่มทำงานฟรีแลนซ์

ภายใต้เงื่อนไขของงานฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่แน่นอนและขาดสวัสดิการ การเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในรายได้ และเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การป่วยหนัก แต่ก็มีอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยชาวฟรีแลนซ์ แบ่งเบาภาระที่ต้องหารายได้เพิ่มในแต่ละเดือนเพื่อมาเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน คือการทำ ประกันสุขภาพ เพราะการทำประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในแนวทางการเงินที่สำคัญที่ช่วยป้องกันค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลที่ไม่คาดคิด ช่วยให้ชาวฟรีแลนซ์ไม่ต้องกังวลกับเงินสำรองฉุกเฉินว่าจะพอจ่ายค่ารักษาหรือไม่
 

2. กลุ่มพนักงานออฟฟิศ

กลุ่มพนักงานออฟฟิศมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างได้เช่นกัน จากภาวะทางเศรษฐกิจ และการเข้ามาแย่งงานของ AI เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยควรเริ่มเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการหักเงินเดือนเข้าบัญชีออมเงินอัตโนมัติ ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก มองหาการลงทุนไว้เพิ่มเติม ที่สำคัญควรรักษาวินัยในการเก็บเงินไว้ให้ดี และเริ่มต้นเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้เลยตั้งแต่วันนี้เพื่อ ความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
 

3. กลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ

สำหรับพนักงานข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ แม้จะมีความมั่นคงมากกว่ากลุ่มพนักงานออฟฟิศ และกลุ่มอาชีพฟรีแลนซ์ แต่ก็ไม่ควรละเลยการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน โดยเฉพาะหากเจ็บป่วย และต้องการความสะดวกสบายในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน
 
ทั้งนี้แนะนำว่าควรเริ่มเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ตั้งแต่ 2-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน โดยการหักเงินอัตโนมัติจากเงินเดือน เข้าบัญชีออมเงิน นอกจากนี้ยังสามารถลงทุนในกองทุนรวมหรือซื้อ ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งชีวิต สุขภาพ และอุบัติเหตุ ไว้สำหรับเป็นสวัสดิการส่วนตัว ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 


วิธีเก็บเงินสำรองฉุกเฉินผ่านสินทรัพย์

ควรเลือกเก็บในสินทรัพย์ที่มี “สภาพคล่องสูง” หมายถึง สินทรัพย์นั้นสามารถแปรเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินให้เราได้ทันทีในเวลาอันรวดเร็ว ไม่เสียเปรียบแม้ว่าภาวะหรือสถานการณ์ในขณะนั้นจะเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่าง หากนำเงินไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เราไม่รู้ว่าในตอนที่เราจำเป็นต้องใช้เงินตลาดหุ้นจะเป็นช่วงขาลงหรือไม่ การที่ต้องขายหุ้นเพื่อนำเงินมาใช้ในขณะนั้นอาจทำให้ได้เงินน้อยลงกว่าที่คาดหวัง หรือหากนำไปซื้อคอนโดเพื่อลงทุนก็อาจจะขายไม่ได้ทันทีในราคาที่เราต้องการ เป็นต้น

ฉะนั้น เมื่อต้องเลือกเก็บเงินไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่องสูง โดยเฉพาะเงินฝากธนาคารที่อัตราผลตอบแทนน้อย เราจึงควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้พอสมควรแบบไม่มากไปน้อยไป และเอาเงินเก็บออมส่วนอื่นๆ ไปเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่า


ป้องกันเงินเก็บสำรองฉุกเฉิน ด้วยการทำประกันชีวิต

ในส่วนของเหตุฉุกเฉินอาจจะมาจากรูปแบบงานที่เราทำ ภาวะทางเศรษฐกิจ หรืออย่างเหตุการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นต้น นอกจากความเสี่ยงในการตกงาน ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพของทั้งเราเองและคนในครอบครัวก็ต้องคำนึงถึง เงินสำรองฉุกเฉินที่เราเก็บไว้และสามารถนำมาใช้จ่ายค่ารักษาได้ทันท่วงทีหากถึงยามจำเป็น โดยเงินส่วนนี้สามารถเก็บไว้ในรูปแบบประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองสุขภาพได้เช่นกัน เหมือนการเก็บเงินไว้ล่วงหน้าด้วยการจ่ายเบี้ยประกันในจำนวนที่เรากำหนดได้และรับมือไหว หากเมื่อถึงยามฉุกเฉินเจ็บป่วยต้องใช้เงินก้อนรักษาก็ยังมีเงินประกันที่บริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาให้ตามวงเงินและข้อกำหนดของกรมธรรม์ที่ทำไว้ได้ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาในส่วนของเงินเก็บออม เงินเก็บฉุกเฉิน

ทั้งนี้ เงินสำรองฉุกเฉินที่ไม่มีใครอยากจะใช้ แต่เมื่อถึงคราวจำเป็น หากเราเตรียมพร้อมก่อน เราจะมีทางเลือกที่ช่วยผ่อนหนักให้เบาลงได้เสมอ
 

สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

ติดต่อเรา
ติดต่อเรา

เลือกแบบประกันชีวิตจากชับบ์ ไลฟ์ ตามช่วงชีวิตของคุณ