รู้สัญญาณเตือนโรคไตที่ควรระวัง โรคไตมีสาเหตุมาจากอะไร รู้จักอาการและวิธีรักษาโรคไต พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน

ข้ามไปหน้าหลัก
การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

คลายข้อสงสัย โรคไตเกิดจากอะไร? รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันไตเสื่อม

10/2024
kidney

 

ไตเปรียบเสมือนโรงงานบำบัดน้ำเสียภายในร่างกายของมนุษย์ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อกรองของเสียและรักษาสมดุลของน้ำและแร่ธาตุ แต่เมื่อไตทำงานหนักเกินไปหรือเกิดความเสียหาย ก็อาจนำไปสู่โรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของใครหลายคน ทำให้ การฟอกไต อาจกลายเป็นภารกิจประจำวันที่ไม่มีใครอยากเผชิญ บทความนี้จะพาทุกคนสำรวจสาเหตุของโรคไตที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ พร้อมเปิดเผยเคล็ดลับการดูแลสุขภาพ ไต อย่างง่ายดายในชีวิตประจำวัน  
 

โรคไต คืออะไร

โรคไต คือภาวะที่ไตทำงานน้อยลงหรือทำงานผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย เนื่องจากไตมีหน้าที่สำคัญในการกำจัดของเสียและสารพิษ พร้อมทั้งควบคุมการสมดุลของน้ำและแร่ธาตุในร่างกายด้วยการสร้างฮอร์โมน หากไตมีปัญหาหรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆในร่างกาย และเป็นเหตุให้เกิดโรคไตหลายรูปแบบ เช่น ไตวาย ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ และนิ่วในไต

โรคไตเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของการทำงานของไต โดยสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก คือ ไตวายเฉียบพลัน และ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งแต่ละประเภทมีโอกาสในการรักษาหายแตกต่างกันไป

โรคไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury)

โรคไตวายเฉียบพลันคือภาวะที่การทำงานของไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเป็นวันถึงสัปดาห์ อาการของไตวายเฉียบพลันประกอบด้วย

  • ปัสสาวะออกน้อยกว่าปกติ
  • ขาบวม หนังตาบวม
  • อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน

การรักษาไตวายเฉียบพลันสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์และรับการรักษาทันท่วงทีภายใน 3 เดือนหลังจากเริ่มมีอาการ การรักษาจะรวมถึงการให้ยารักษาภาวะช็อค การรักษาการติดเชื้อ และการปรับสมดุลของสารน้ำในร่างกาย
 

โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease)

โรคไตวายเรื้อรังเป็นภาวะที่การทำงานของไตเสื่อมลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีอาการแสดงในช่วงแรกไม่เด่นชัดเหมือนไตวายเฉียบพลัน อาการที่พบบ่อยคือ

  • อ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร

  • คันตามตัว ผิวแห้ง

  • ปัสสาวะกลางคืนบ่อย หรือเกิน 2 ครั้งต่อคืน

โรคไตวายเรื้อรังคนไข้ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเนื้อเยื่อไตเสียหายเป็นเวลานานจนเกิดพังผืดในไต การรักษาจะเน้นที่การชะลอการเสื่อมของไต โดยการควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง
 

สาเหตุของโรคไต เกิดจากอะไร

โรคไตเป็นภาวะที่ไตทำงานไม่ปกติหรือเสื่อมลง ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไต ไม่ใช่แค่การบริโภคอาหารเค็มเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตด้วย ดังนี้:  

1. โรคประจำตัวที่มีผลกระทบกับไต

  • โรคเบาหวาน: ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำลายหลอดเลือดในไต ทำให้ไตเสื่อมลง

  • ความดันโลหิตสูง: ความดันโลหิตสูงทำลายหลอดเลือดในไต ทำให้การทำงานของไตลดลง

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด: โรคเหล่านี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังไตลดลง ส่งผลให้ไตทำงานไม่ปกติ

  • โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน: ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและเบาหวานซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไต

  • โรคเกาต์: ระดับกรดยูริกในเลือดสูงทำให้เกิดการสะสมในไตและทำลายเนื้อเยื่อไต

  • โรคแพ้ภูมิตนเอง: เช่น Lupus ซึ่งสามารถทำให้เกิดการอักเสบของไต

  • การสูบบุหรี่เรื้อรัง: ทำลายหลอดเลือดและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต
     

2. ภาวะไตผิดปกติตั้งแต่กำเนิด

ไตฝ่อไตที่มีขนาดเล็กกว่าปกติและทำงานไม่สมบูรณ์ มีมวลเนื้อไตลดลงทำให้ไตไม่สามารถกรองของเสียได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นและเสื่อมลงเร็วขึ้น

3. ภาวะหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ

การอักเสบของหลอดเลือดฝอยในไต (Glomerulonephritis) ทำให้ไตไม่สามารถกรองของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ

4. การติดเชื้อทางเดินระบบปัสสาวะส่วนบนช้ำหลายครั้ง

การติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องสามารถลุกลามไปถึงไตและทำให้เกิดการอักเสบของไตได้
 

5. การตรวจพบนิ่วในไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดการอุดตันและการอักเสบในไต ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสื่อมสภาพของไต  
 

6. การตรวจพบถุงน้ำในไตมากกว่า 3 ตำแหน่งขึ้นไป

ถุงน้ำในไต (Cysts) ทำให้ไตมีขนาดใหญ่ขึ้นและการทำงานลดลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคไต
 

7. ประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง

หากมีคนในครอบครัวที่เป็นโรคไตเรื้อรัง โอกาสที่สมาชิกในครอบครัวจะเป็นโรคไตก็จะสูงขึ้น
 

8. การได้รับยาในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs

การใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในระยะยาวสามารถทำลายเนื้อเยื่อไต เช่นเดียวกับการสัมผัสกับสารพิษที่ทำลายไต (Nephrotoxic agents)
 

9. ดื่มน้ำน้อยเกินไป

การดื่มน้ำน้อยทำให้เกิดภาวะขาดน้ำของไต ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นและมีโอกาสเกิดนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะ
 

10. รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง

อาหารบางชนิดมีโซเดียมสูงถึงแม้ทานแล้วจะรู้สึกว่าไม่เค็ม แต่ก็ส่งผลต่อไต เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มสุกี้ อาหารแปรรูป แฮม เบคอน ขนมกรุบกรอบ ผลไม้กระป๋อง อาหารหมักดอง ผักกาดดอง ไข่เค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงฟู สารกันบูด สารกันเชื้อราในขนมปัง
 

6 สัญญาณเตือนโรคไตที่ควรระวัง

ไตอาจส่งสัญญาณเตือนผ่านอาการต่าง ๆ การสังเกตและเข้าใจสัญญาณเหล่านี้ช่วยให้รับการรักษาได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยงจากโรคไตร้ายแรง สัญญาณเตือนที่ควรสังเกต ได้แก่

1. ปัสสาวะผิดปกติ: สีแปลก ขุ่น หรือมีฟอง

  • ปัสสาวะมีเลือดปนหรือขุ่น: อาจเกิดจากการอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีนิ่วในไต

  • ปัสสาวะเป็นฟอง: บ่งชี้ว่ามีโปรตีนรั่วออกมา แสดงถึงไตทำงานผิดปกติ

2. ปัสสาวะไม่สบาย: แสบ ขัด หรือบ่อยผิดปกติ

  • ปัสสาวะแสบขัด: อาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

  • ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน: สัญญาณว่าไตอาจทำงานไม่ปกติ

3. อาการบวม: ตื่นมาพบว่าตัวบวม

  • บวมรอบดวงตา ใบหน้า: มักพบหลังตื่นนอน

  • ขาและเท้าบวม: โดยเฉพาะหลังยืนนาน ๆ

  • สาเหตุ: ไตไม่สามารถขับของเสียและน้ำออกจากร่างกายได้ดี

4. ปวดหลัง: ไม่ใช่แค่ปวดธรรมดา

  • ปวดบริเวณบั้นเอวหรือชายโครง: อาจร้าวไปที่ท้องน้อย ต้นขา หรืออวัยวะเพศ

  • สาเหตุ: อาจเกิดจากนิ่วในไตหรือการอักเสบของไต

5. น้ำหนักเปลี่ยนแปลง: ขึ้นลงผิดปกติ

  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

  • น้ำหนักขึ้นเนื่องจากบวมน้ำ

  • ทั้งสองกรณีอาจบ่งชี้ถึงปัญหาการทำงานของไต

6. อ่อนเพลียผิดปกติ: เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น

  • รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรง แม้จะนอนหลับเพียงพอ

  • อาจเกิดจากการสะสมของเสียในร่างกายเนื่องจากไตทำงานไม่ดี

คำเตือน: หากพบอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบการทำงานของไต การตรวจพบและรักษาแต่เนิ่น ๆ ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
 

อาหารที่ควรเลี่ยงของคนป่วยโรคไต

  1. การดื่มน้ำมากเกินไป: หากเป็นไตวายระยะสุดท้ายที่มีปัสสาวะออกลดลงหรือมีอาการบวม ต้องจำกัดน้ำดื่มไม่ให้เกิน 700 – 1,000 ซีซีต่อวันเพื่อป้องกันการเสื่อมของไตและป้องกันการบวมน้ำและน้ำท่วมปอด
  2. เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูง: เช่น น้ำปลา ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส  เพราะการบริโภคโซเดียมมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
  3. อาหารที่มีพิวรีนมาก: สารพิวรีน (purine) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทั่วไป โดยพิวรีนพบอย่างเข้มข้นในเนื้อสัตว์ เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ได้แก่ ไก่ เป็ด วัว และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น
  4. อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง: ฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย พบได้ใน ไข่แดง นม ชีส โยเกิร์ต เนยแข็ง ผลไม้ที่มีเมล็ด เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น
  5. ผักสีเข้ม: ควรหลีกเลี่ยงผักสีเข้ม เช่น บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูง
  6. อาหารรสเค็มจัด: เช่น อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง ไส้กรอก แฮม เบคอน เป็นต้น
  7. อาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูง: เช่น อาหารทะเล อาหารฟาสต์ฟู้ด ไข่แดง นม และไขมันอิ่มตัวจากพืชและสัตว์ เช่น กะทิ น้ำมันปาล์ม มันหมู เป็นต้น
  8. อาหารมีโปรตีนมาก: ควรควบคุมปริมาณเนื้อสัตว์ในอาหาร เพื่อป้องกันการทำงานหนักของไต โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
  9. อาหารที่มีแป้งสูง: ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งสูง เช่น ข้าวเจ้า ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี เป็นต้น

 

หมายเหตุ:

ข้อมูลนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ป่วยโรคไตควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ปริมาณอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถรับประทานได้จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ผู้ป่วยโรคไตควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืช
 

โรคไตเมื่อเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้ไหม?

การรักษาโรคไต ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสาเหตุของโรคไตที่เป็นอยู่ ซึ่งมีวิธีการรักษาหลายวิธี

  1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
    เป็นการนำเลือดไปผ่านเครื่องกรองหรือที่เรียกว่าเครื่องไตเทียม เพื่อขจัดของเสียและน้ำส่วนเกินจากในร่างกาย และนำกลับคืนไปยังผู้ป่วย เป็นวิธีที่ใช้เวลามากถึง 4-5 ชั่วโมงต่อครั้ง และ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

  2. การล้างไต
    ใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องและอาศัยการทำงานของเยื่อบุช่องท้องในการแลกเปลี่ยนของเสียต่างๆ แล้วจึงทำการระบายน้ำยาล้างไตทิ้ง ซึ่งวิธีนี้ต้องทำการผ่าตัดใส่สายยางเข้าไปในร่างกายสำหรับส่งน้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง ซึ่งต้องทำวันละ 4 ครั้งต่อเนื่องทุกวัน

  3. การปลูกถ่ายไต
    การผ่าตัดนำไตที่ยังสุขภาพดีและทำงานได้ดีจากผู้บริจาคไปยังผู้ป่วยโรคไต การใช้วิธีนี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพดี แต่จำเป็นต้องทานยากดภูมิต้านทานอย่างสม่ำเสมอ
     

วิธีป้องกันโรคไต

1. ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี

สังเกตความผิดปกติของร่างกาย เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อยขึ้น อ่อนเพลีย บวมน้ำ และตรวจวัดความดันโลหิต วัดระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจวัดค่า Creatinine และ eGFR ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกถึงการทำงานของไตเป็นประจำ

2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ครบถ้วนในสัดส่วนที่เหมาะสม ลดการทานเนื้อสัตว์ติดมัน ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ และอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารกึ่งสำเร็จรูป 

3. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร หรือ 6-8 แก้วต่อวัน

การดื่มน้ำเพียงพอจะช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ลดภาระการทำงานของไตควรดื่มน้ำให้กระจายตลอดทั้งวัน ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไปในคราวเดียว

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายจะช่วยควบคุมความดันโลหิต น้ำหนักตัว ระดับน้ำตาลในเลือด และเสริมสร้างสุขภาพโดยรวม

5. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

การมีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไต ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ BMI ไม่เกิน 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารและออกกำลังกาย

6. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ต่อวัน

การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเอง ลดความเครียด ควรนอนหลับพักผ่อนเป็นเวลา

7. หลีกเลี่ยงสารเสพติด

การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เสพสารเสพติด ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ควรงดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และเสพสารเสพติดทุกชนิด

8. หลีกลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ

ควรปัสสาวะเมื่อรู้สึกอยากปัสสาวะ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานจะส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะและไต

9. หลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่อาจมีผลต่อไต

ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดคลอเฟแนค ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาดังกล่าว

10. อย่าหลงเชื่อโฆษณาอาหารเสริมหรือสมุนไพรที่แอบอ้างสรรพคุณเกินจริง


ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรทุกชนิด เพราะอาหารเสริมหรือสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลต่อการทำงานของไต


การมีไตที่แข็งแรงเป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพที่ดี การทำความเข้าใจการทำงานของไตและการดูแลสุขภาพไตอย่างถูกวิธี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ การนำความรู้ที่ได้จากบทความนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการดื่มน้ำให้เพียงพอ จะช่วยป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าลืมตรวจสุขภาพไตเป็นประจำ เพื่อตรวจหาภาวะผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย การดูแลสุขภาพไตตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้มีชีวิตที่มีคุณภาพและสุขภาพที่ดีในระยะยาว


เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และอย่าปล่อยให้ค่ารักษาพยาบาล มาทำให้แผนการใช้ชีวิตไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ เพราะค่ารักษาพยาบาลที่ไม่คาดคิดอาจสร้างปัญหาให้กับเงินออมและแผนการใช้ชีวิตได้ ให้ประกันสุขภาพจาก ชับบ์ ไลฟ์ ช่วยดูแลด้วยแบบประกันสุขภาพคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและผ่าตัด ประกันชดเชยรายได้ และประกันโรคร้ายแรงมอบความคุ้มครองสุขภาพที่ครอบคลุม เพื่อปกป้องผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เมื่อเจ็บป่วยและต้องรักษาตัว

 

ที่มา

บทความ

ซีสต์ (cyst) ลักษณะ อาการ การรักษา และป้องกัน

ซีสต์ (cyst) คือก้อนหรือตุ่มที่เกิดขึ้นตามร่างกาย โดยมีลักษณะเป็นถุงที่บรรจุอากาศ ของเหลว น้ำ ไขมัน หรือมีเนื้อเยื่อผสมอยู่ก็ได้ ซึ่งถือเป็นความผิดปกติของร่างกาย ส่วนใหญ่จะไม่อันตรายและไม่ใช่มะเร็ง

รู้เท่าทัน โซเดียม เลือกทานอาหาร เพื่อสุขภาพหัวใจและไตที่แข็งแรง

โซเดียม แร่ธาตุที่มักถูกมองข้าม แต่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ พบได้ในอาหารทั่วไป ในบทความนี้ จะมาทำความรู้จักกับโซเดียมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เข้าใจถึงปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต้องการต่อวัน ประโยชน์ และผลเสียของการกินโซเดียม

kidney

ฟอกไต วิธีรักษาโรคไตเรื้อรังที่ควรเข้าใจ

เคยสงสัยไหมว่าไตทำงานหนักแค่ไหนในแต่ละวัน? เสมือนโรงงานรีไซเคิลขนาดยักษ์ที่ไม่เคยหยุดพัก ไตคัดกรอง ดูดซึม และขับของเสียออกจากร่างกายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่เมื่อโรงงานรีไซเคิลนี้เริ่มสะดุด โรคไตเรื้อรังอาจคืบคลานเข้ามา

สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

ติดต่อเรา 

ให้ ชับบ์ ไลฟ์ ปกป้อง ดูแลคุณ

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อเรา เพื่อรับคําแนะนําเกี่ยวกับการปกป้อง คุ้มครองจากความเสี่ยงต่างๆ