ข้ามไปหน้าหลัก
ประกันชีวิต

เลือกประกันชีวิตแบบไหนดีที่เหมาะสมกับตัวเอง

10/2024
working men talking



ทำไมถึงต้องทำประกันชีวิต เพราะหน้าที่หลักของประกันคือ “การโอนถ่ายความเสี่ยง” ของผู้เอาประกันภัยให้กับผู้รับประกัน เนื่องจากชีวิตเรามีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการเสียชีวิต อย่างกรณีเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุจนต้องได้รับการผ่าตัดขึ้นมา อาจต้องเสียเงินเป็นหลักแสน หรือหลักล้าน ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุก็มาช่วยรับความเสี่ยงตรงนี้ได้และในกรณีที่หัวหน้าครอบครัวเกิดเหตุสุดวิสัยเสียชีวิตไปแบบกะทันหัน รายได้หลักของครอบครัวมีอันต้องหยุดชะงักไป คนในครอบครัวก็คงจะลำบากขึ้น แต่หากหัวหน้าครอบครัวทำประกันชีวิตไว้แล้ว บริษัทประกันจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้กับผู้รับประโยชน์ อย่างน้อยก็เป็นเงินก้อนที่สามารถให้คนที่อยู่ข้างหลังได้มีโอกาสใช้ชีวิตตามที่วางแผนไว้ต่อไปได้
 


เพราะเหตุนี้การทำประกันชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ แล้วควรเลือกทำประกันชีวิตแบบไหนดี ? นี่คงเป็นคำถามที่ทุกคนสงสัย อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเลือกซื้อประกันชีวิต มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าประกันชีวิตมีกี่แบบ แต่ละแบบเหมาะกับใครบ้าง เพื่อให้การเลือกซื้อประกันชีวิตคุ้มค่ากับเบี้ยที่จ่ายไปมากที่สุด
 

ประกันชีวิตมีกี่แบบ? แต่ละแบบเหมาะกับใครบ้าง

ประกันชีวิตนั้นมีการพัฒนารูปแบบความคุ้มครองที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินที่แตกต่างกันไป แต่หากแบ่งตามหมวดหลักๆ ของรูปแบบประกันชีวิตสัญญาหลักแล้วจะมีรูปแบบดังนี้
 

1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) เป็นความคุ้มครองชีวิตระยะยาว เช่น คุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนถึงอายุ 90 ปี หรือมากกว่านั้น โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินครบกำหนดสัญญาให้หากผู้เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา หรือหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระหว่างสัญญาบริษัทประกันจะจ่าย “เงินเอาประกันภัย” ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามที่ผู้เอาประภัยกำหนด ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นคนในครอบครัว เช่น บุตร คู่สมรส หรือบิดามารดา เป็นต้น

เหมาะสำหรับ

● เพื่อคุ้มครองชีวิต หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน คนที่อยู่ข้างหลังจะได้รับเงินไว้ใช้ชีวิตตามคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมต่อไป ระยะเวลาคุ้มครองยาว เหมาะสำหรับการซื้อสัญญาเพิ่มเติมแนบไว้ เช่น คุ้มครองสุขภาพ โรคร้ายแรง อุบัติเหตุ เป็นต้น

● ให้ความคุ้มครองชีวิตที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเบี้ยที่จ่าย ไว้เป็นเงินทุนสำหรับคนที่เรารัก หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน

● สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากร กำหนด  
 

2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) เป็นแบบประกันที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนในระหว่างสัญญาหรือเมื่อครบกำหนดสัญญา พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองชีวิตด้วยเช่นกัน โดยมากระยะเวลาความคุ้มครองจะไม่ยาวนัก เช่น 5 ปี 10 ปี 20 ปี แต่ก็มีที่คุ้มครองจนครบอายุ 60 ปี โดยผลตอบแทนที่จ่ายคืนผู้เอาประกันภัย ในกรณีมีชีวิตอยู่ มักจะมีกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะจ่ายเมื่อครบปีกรมธรรม์ที่เท่าไหร่บ้าง ซึ่งจะมีทั้งที่ “กำหนดจำนวนเงินที่แน่นอน” หรืออยู่ในลักษณะ “เงินปันผล” ที่จะแปรผันไปตามผลการลงทุนของบริษัทในขณะนั้น

เหมาะสำหรับ

● ผู้ที่ต้องการออมเงิน และได้รับความคุ้มครองชีวิต

● สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากร กำหนด
 

3. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance)

ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance) แบบประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิต โดยบริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้กับผู้รับผลประโยชน์ ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเท่านั้น จะไม่จ่ายให้เมื่อผู้เอาประกันอยู่จนครบกำหนดสัญญา เป็นแบบประกันชีวิตที่มีค่าเบี้ยประกัน “ต่ำที่สุด” เมื่อเปรียบเทียบกับความคุ้มครองชีวิตที่ได้รับ มีระยะเวลาความคุ้มครองกำหนดไว้แน่นอน เช่น 5 ปี 10 ปี ฯลฯ มักจะทำไว้เพื่อเน้นความคุ้มครองชีวิต สร้างความอุ่นใจให้กับคนที่รัก รวมถึงเป็นการสร้างหลักประกันให้กับครอบครัว

เหมาะสำหรับ

● ให้ความคุ้มครองชีวิตสูง เมื่อเทียบกับเบี้ยที่จ่าย และมีระยะเวลาคุ้มครองชัดเจน

● เหมาะกับการทำไว้เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับคนที่รัก รวมถึงสร้างหลักประกันให้กับครอบครัว เช่น หัวหน้าครอบครัวที่ต้องผ่อนบ้าน 20 ปี ก็ทำประกันคุ้มครองชีวิต 20 ปี หากเกิดเหตุไม่คาดฝันก่อนผ่อนครบ คนข้างหลังสามารถนำเงินจากบริษัทประกันจ่ายภาระหนี้ได้

● สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากร กำหนด
 

4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance)

ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance) เพื่อเป็นการคุ้มครองรายได้หลังเกษียณเป็นหลัก โดยบริษัทประกันชีวิตจะเริ่มจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ให้ตั้งแต่เมื่อครบอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี และจะมีการจ่ายต่อเนื่องเป็นงวดๆ ในช่วงหลังวัยเกษียณตามสัญญาไปจนกว่าจะครบกำหนด เช่น จ่ายเงินบำนาญเริ่มตั้งแต่อายุครบ 55 ปี ไปจนถึง 90 ปี เพื่อเป็นแหล่งรายได้หลังเกษียณที่แน่นอน เพราะการมีชีวิตอยู่ยาวนานโดยไม่มีรายได้เพียงพอก็นับเป็นความเสี่ยงเช่นกัน

เหมาะสำหรับ

● สำหรับผู้ที่ต้องการมีรายได้หลังเกษียณที่แน่นอน

● เหมาะกับคนที่ดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ และเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดี ซึ่งหมายถึงแนวโน้มการมีอายุยาวนาน

● สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากร กำหนด
 

5. ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal life and Unit-linked Insurance

ประกันชีวิตควบการลงทุน รูปแบบประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองชีวิต และเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันภัยเลือกที่จะรับผลตอบแทนจากการทำประกันชีวิตที่มากขึ้น โดยการนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

● ประกันชีวิตแบบ Universal life: ผู้เอาประกันสามารถเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินคุ้มครองชีวิต และจำนวนเงินส่วนที่นำไปลงทุนได้ แต่ไม่สามารถเลือกแผนการลงทุนเองได้ ซึ่งบริษัทประกันจะรับรองผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ให้ แต่หากผลการลงทุนได้สูงกว่าที่รับรอง ผู้เอาประกันภัยก็จะได้รับมากขึ้นด้วยเช่นกัน

● ประกันชีวิตแบบ Unit-linked: นอกจากความคุ้มครองชีวิตแล้ว ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ได้ตามที่บริษัทได้กำหนด โดยบริษัทประกันจะไม่รับรองผลตอบแทนขั้นต่ำให้ ดังนั้นผู้เอาประกันจะเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมไว้เอง แต่ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน

เหมาะสำหรับ

● ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต และโอกาสรับผลตอบแทนเพิ่มจากการทำประกันชีวิต

● ผู้ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้

● สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากร กำหนด
 

ซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี ที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย

การเลือกประกันชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัยนั้น สำคัญมาก เพราะความต้องการและภาระรับผิดชอบจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ ดังนี้
 

วัยเริ่มต้นทำงาน

วัยเริ่มต้นทำงาน เป็นช่วงวัยที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างฐานะทางการเงิน ซึ่งอาจยังไม่มีภาระรับผิดชอบมากนัก การเลือกทำประกันชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุหรือทุพพลภาพที่ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การเลือกทำ ประกันชดเชยรายได้ ที่มอบเงินชดเชยรายวันเมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ช่วยแบ่งเบาภาระการหารายได้ในวันที่ต้องพักรักษาตัวและไม่สามารถทำงานได้ การเลือกทำประกันประเภทนี้ จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับวัยเริ่มต้นทำงาน  
 

วัยสร้างครอบครัว

วัยสร้างครอบครัว เป็นช่วงวัยที่มีภาระรับผิดชอบมากขึ้นมีครอบครัวต้องดูแล การเลือกทำประกันชีวิตควรเน้นไปที่การป้องกันความเสี่ยงกรณีเสียชีวิต เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคงให้กับครอบครัว ในวันที่เสาหลักในครอบครัวเกิดเหตุสุดวิสัยเสียชีวิตไปแบบกะทันหัน การเลือกทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าคนที่เรารักจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่เราต้องการ แม้ในวันที่ไม่สามารถดูแลเขาได้อีกต่อไป 
 


วัยใกล้เกษียณ

วัยใกล้เกษียณ เป็นช่วงวัยที่ต้องวางแผนการเงินให้มั่นคง เพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอหลังเกษียณ การเลือกทำประกันชีวิตแบบบำนาญ จะช่วยคลายกังวลกับความไม่แน่นอนในวัยเกษียณ เพราะช่วยให้มีเงินบำนาญไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ ช่วยให้มีรายรับอย่างมั่นคง อุ่นใจว่าจะมีเงินไว้ใช้ทุกปีตามที่วางแผนไว้  
 

ก่อนซื้อประกันชีวิตควรพิจารณาอะไรบ้าง

การเลือกประกันชีวิตให้เหมาะกับตัวเองนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยทั่วไปแล้วควรพิจารณา ดังนี้


1. ต้องการทำประกันชีวิตเพื่ออะไร?

● คุ้มครองชีวิต: ป้องกันความเสี่ยงทางการเงินหากเสียชีวิต ทดแทนรายได้ ดูแลครอบครัว

● สร้างมรดก: ส่งต่อทรัพย์สินให้ลูกหลาน สร้างความมั่นคงให้กับอนาคต

● เก็บออม: สร้างวินัยการออมเงิน สะสมเงินไว้ใช้ในอนาคต

● ลดหย่อนภาษี: ประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดภาระค่าใช้จ่าย


2. มีภาระค่าใช้จ่ายและภาระผูกพันอะไรบ้าง?

● ค่าใช้จ่ายส่วนตัว: ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

● ค่าใช้จ่ายครอบครัว: ค่าเลี้ยงดูลูก ค่าการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

● หนี้สิน: สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ บัตรเครดิต ฯลฯ  

● ภาระผูกพันอื่นๆ: ดูแลพ่อแม่ ผ่อนชำระหนี้สินของครอบครัว ฯลฯ  
 
3. อนาคตมีแผนจะทำอะไรบ้าง?

● แต่งงาน: มีครอบครัว มีลูก

● มีลูก: ค่าเลี้ยงดู ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

● เกษียณอายุ: หยุดทำงาน ต้องการเงินทุนสำรอง

● ธุรกิจส่วนตัว: ขยายกิจการ ลงทุน ฯลฯ

● อื่นๆ: ท่องเที่ยว เรียนต่อ ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ฯลฯ


4. มีความเสี่ยงด้านสุขภาพอะไรบ้าง?

● มีโรคประจำตัวหรือไม่?

● มีประวัติครอบครัวเป็นโรคอะไรบ้าง?

● เคยเข้ารับการรักษาพยาบาลอะไรบ้าง?

ประเภทของประกันชีวิตมีหลากหลายแบบ ดังนั้นควรทำความเข้าใจ และเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เพื่อได้รับความคุ้มครองที่คุ้มค่า

 

บทความ

10 ข้อฝึกออมเงินให้เป็นนิสัย

พื้นฐานสำคัญในการสร้างรากฐานทางการเงินที่ดีในอนาคต ช่วยให้บรรลุเป้าหมายส่วนตัวต่างๆ ได้ สามารถเริ่มต้นจากการฝึกออมเงินไว้ให้เป็นนิสัย

10 วิธีวางแผนการเงินสำหรับทุกวัยที่ช่วยให้ชีวิตมั่งคั่งอย่างมั่นคง

ประกันชีวิต เครื่องมือวางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพ นอกจากช่วยออมเงิน ยังใช้ลดหย่อนภาษี ให้ความคุ้มครอง และช่วยลดความเสี่ยงเสียเงินก้อนโต หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน

ประกันชีวิตกับการลดหย่อนภาษี: เคล็ดลับดีๆ เพื่อประหยัดภาษีและคุ้มครองอนาคต

ประกันชีวิตไม่ได้เพียงช่วยปกป้องอนาคตของคุณและคนที่คุณรักเท่านั้น แต่ยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้เอาประกันภัยอีกด้วย

สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

ติดต่อเรา
ติดต่อเรา

เลือกแบบประกันชีวิตจากชับบ์ ไลฟ์ ตามช่วงชีวิตของคุณ