ข้ามไปหน้าหลัก
ประกันชีวิต

ประกันชีวิตมีกี่แบบและมีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

07/2022
guy talking with a client

เพื่อให้เข้าใจคำว่าประกันชีวิตสำหรับผู้ที่กำลังสนใจและหาข้อมูลอยู่ในขณะนี้ 

หน้าที่หลักของประกันคือ “การโอนถ่ายความเสี่ยง” ของผู้เอาประกันให้กับผู้รับประกัน เนื่องจากชีวิตเรามีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการเสียชีวิต อย่างกรณีเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุจนต้องได้รับการผ่าตัดขึ้นมา คุณอาจต้องเสียเงินเป็นหลักแสน หรือหลักล้าน ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุก็มาช่วยรับความเสี่ยงตรงนี้ได้ โดยบริษัทประกันจะมีหน้าที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นแทนผู้ทำประกันตามข้อกำหนดความคุ้มครองที่ระบุไว้ตอนทำกรมธรรม์ประกัน โดยผู้ทำประกันรับหน้าที่จ่ายเบี้ยประกันภัยตามกำหนดเพียงเท่านั้น ซึ่งโดยปกติเบี้ยประกันที่จ่ายย่อมเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าจำนวนเงินที่ได้รับคุ้มครองอยู่แล้ว หรือในกรณีประกันชีวิต หัวหน้าครอบครัวที่ได้ทำประกันไว้ โดยกำหนดให้ผู้รับประโยชน์เป็นคู่สมรสหรือลูก หากเกิดเหตุสุดวิสัยเสียชีวิตไป รายได้หลักที่มาจากผู้ทำประกันก็มีอันต้องหยุดชะงักไป ซึ่งคนในครอบครัวก็คงจะลำบากขึ้น แต่หากทำประกันชีวิตไว้แล้ว บริษัทประกันจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้กับผู้รับประโยชน์ อย่างน้อยก็เป็นเงินก้อนที่สามารถให้คนที่อยู่ข้างหลังได้มีโอกาสใช้ชีวิตตามที่วางแผนไว้ต่อไปได้

 

ประกันชีวิตมีกี่แบบ?

ประกันชีวิตนั้นมีการพัฒนารูปแบบความคุ้มครองที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินที่แตกต่างกันไป แต่หากแบ่งตามหมวดหลักๆ ของรูปแบบประกันชีวิตสัญญาหลักแล้วจะมีรูปแบบดังนี้

 

1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)

เป็นความคุ้มครองชีวิตระยะยาว เช่น คุ้มครองผู้เอาประกันจนถึงอายุ 90 ปี หรือมากกว่านั้น โดยบริษัทประกันจะมอบเงินครบกำหนดสัญญาให้หากผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา หรือหากผู้เอาประกันเสียชีวิตในระหว่างสัญญาบริษัทประกันจะจ่าย “เงินเอาประกันภัย” ให้แก่ผู้รับประโยชน์ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นคนในครอบครัว เช่น บุตร คู่สมรส หรือบิดามารดา เป็นต้น

 

2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)

เป็นแบบประกันที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนในระหว่างสัญญาหรือเมื่อครบกำหนดสัญญา พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองชีวิตด้วยเช่นกัน โดยมากระยะเวลาความคุ้มครองจะไม่ยาวนัก เช่น 5 ปี 10 ปี 20 ปี แต่ก็มีที่คุ้มครองจนครบอายุ 60 ปี โดยผลตอบแทนที่จ่ายคืนผู้เอาประกันภัย ในกรณีมีชีวิตอยู่ มักจะมีกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะจ่ายเมื่อครบปีกรมธรรม์ที่เท่าไหร่บ้าง ซึ่งจะมีทั้งที่ “กำหนดจำนวนเงินที่แน่นอน” หรืออยู่ในลักษณะ “เงินปันผล” ที่จะแปรผันไปตามผลการลงทุนของบริษัทในขณะนั้น

 

3. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)

แบบประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิต โดยบริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้กับผู้รับผลประโยชน์ ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตเท่านั้น จะไม่จ่ายให้เมื่อผู้เอาประกันอยู่จนครบกำหนดสัญญา เป็นแบบประกันชีวิตที่มีค่าเบี้ยประกัน “ต่ำที่สุด” เมื่อเปรียบเทียบกับความคุ้มครองชีวิตที่ได้รับ มีระยะเวลาความคุ้มครองกำหนดไว้แน่นอน เช่น 5 ปี 10 ปี ฯลฯ มักจะทำไว้เพื่อเน้นความคุ้มครองชีวิต สร้างความอุ่นใจให้กับคนที่รัก รวมถึงเป็นการสร้างหลักประกันให้กับครอบครัว

 

4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance)

เพื่อเป็นการคุ้มครองรายได้หลังเกษียณเป็นหลัก โดยบริษัทประกันชีวิตจะเริ่มจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ให้ตั้งแต่เมื่อครบอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี และจะมีการจ่ายต่อเนื่องเป็นงวดๆ ในช่วงหลังวัยเกษียณตามสัญญาไปจนกว่าจะครบกำหนด เช่นจ่ายเงินบำนาญเริ่มตั้งแต่อายุครบ 55 ปี ไปจนถึง 90 ปี เพื่อเป็นแหล่งรายได้หลังเกษียณที่แน่นอน เพราะการมีชีวิตอยู่ยาวนานโดยไม่มีรายได้เพียงพอก็นับเป็นความเสี่ยงเช่นกัน

 

5. ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal life and Unit-linked Insurance)

รูปแบบประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองชีวิต และเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันเลือกที่จะรับผลตอบแทนจากการทำประกันที่มากขึ้น โดยการนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น
 

  • ประกันชีวิตแบบ Universal life: ผู้เอาประกันสามารถเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินคุ้มครองชีวิต และจำนวนเงินส่วนที่นำไปลงทุนได้ แต่ไม่สามารถเลือกแผนการลงทุนเองได้ ซึ่งบริษัทประกันจะรับรองผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ให้ แต่หากผลการลงทุนได้สูงกว่าที่รับรอง ผู้เอาประกันก็จะได้รับมากขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ประกันชีวิตแบบ Unit-linked: นอกจากความคุ้มครองชีวิตแล้ว ผู้เอาประกันสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ได้ตามที่บริษัทได้กำหนด โดยบริษัทประกันจะไม่รับรองผลตอบแทนขั้นต่ำให้ ดังนั้นผู้เอาประกันจะเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมไว้เอง แต่ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน

 

ประเภทของประกันชีวิตมีหลากหลายแบบ ดังนั้นควรทำความเข้าใจ และเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด เพื่อได้รับความคุ้มครองที่คุ้มค่า หรือศึกษาเพิ่มเติม ประกันชีวิตแต่ละแบบเหมาะกับใคร?

 

สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

ติดต่อเรา
ติดต่อเรา

เลือกแบบประกันชีวิตจากชับบ์ ไลฟ์ ตามช่วงชีวิตของคุณ