ข้ามไปหน้าหลัก
ประกันชีวิต

พินัยกรรมมีกี่ประเภท ทําอย่างไร?

10/2024
signing the paper


พินัยกรรมใครควรทำและทำเมื่อไร? จริงๆ แล้ว พินัยกรรมเหมาะกับทุกคนที่มีทรัพย์สินที่ต้องการส่งมอบให้กับคนที่รักและห่วงใย เมื่อต้องจากไป ทรัพย์สินจะมากจะน้อยไม่สำคัญ และการทำพินัยกรรมก็สามารถทำได้ทุกเมื่อและแก้ไขได้ตลอด ไม่จำเป็นต้องทำเมื่อมีอายุมาก การเตรียมการณ์ไว้ก่อนแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดการทะเลาะเบาะแว้งในหมู่ลูกหลานและเครือญาติ และยังมั่นใจได้ว่าทรัพย์สินนั้นจะถูกส่งมอบไปยังผู้รับดังที่ตั้งใจไว้ด้วย บทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับประเภทของพินัยกรรมแต่ละแบบที่กฏหมายรับรอง รวมถึงข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเตรียมพร้อมในการวางแผนอนาคตของพินัยกรรมให้ตรงความต้องการและวัตถุประสงค์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้มากที่สุด
 

พินัยกรรม คืออะไร

พินัยกรรม เป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายที่แสดงเจตนารมณ์ของบุคคลเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการต่างๆ ของตนเองหลังเสียชีวิต โดยมีผลบังคับตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตแล้ว ซึ่งการทำพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายจะช่วยลดปัญหาข้อพิพาทระหว่างทายาท และช่วยให้มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินของเราจะตกถึงมือผู้ที่เราต้องการ (ป.พ.พ. มาตรา 1646 – 1648)   
 

พินัยกรรมมีกี่แบบ

สำหรับรูปแบบของพินัยกรรมที่กฏหมายรับรอง หลักๆ มีอยู่ 5 รูปแบบ

 

 

1. พินัยกรรมแบบธรรมดา

คือการพิมพ์ข้อความลงในกระดาษ ระบุรายการทรัพย์สิน สัดส่วน และผู้รับมรดก ลงวัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำเอกสาร พร้อมกับลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมทุกหน้า ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน และพยานก็ต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย

2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนพินัยกรรมทั้งหมดด้วยลายมือตนเอง ลงวัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำเอกสาร พร้อมกำกับลายมือชื่อไว้ด้วย ทั้งนี้ จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้ พินัยกรรมรูปแบบนี้ถือว่าสะดวกที่สุด ปลอมแปลงได้ยาก แต่ก็เหมาะกับพินัยกรรมที่มีรายละเอียดไม่มากนัก และควรจะแจ้งคนใกล้ชิดหรือคนที่ไว้ใจไว้ด้วย เพราะหากไม่มีใครรู้ มรดกก็อาจจะไม่ได้ส่งมอบตามที่วางแผนไว้

3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง

ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งเจ้าพนักงานที่เขตหรืออำเภอ ถึงความต้องการทำพินัยกรรม โดยแจ้งรายละเอียดของทรัพย์สินและผู้รับมรดก เมื่อเจ้าพนักงานรับทราบ ก็จะอ่านข้อความให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานอีกอย่างน้อย 2 คนฟัง เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ผู้ทำพินัยกรรมและพยานก็จะลงลายมือชื่อ อีกทั้งเจ้าพนักงานก็จะลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราตำแหน่ง และระบุวัน เดือน ปี และสถานที่ไว้ด้วย

4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ

ผู้ทำพินัยกรรมจัดทำเอกสารโดยปิดผนึกไว้ แล้วจึงไปที่เขตหรืออำเภอที่สะดวก โดยผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งพยานอย่างน้อย 2 คน ว่านี่คือพินัยกรรมของตน พร้อมด้วยรายละเอียด จากนั้นให้ลงลายมือชื่อ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกถ้อยคำ พร้อมลง วัน เดือน ปี และสถานที่ไว้บนซอง รวมทั้งประทับตราตำแหน่งไว้ ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้หน้าซองตรงที่ปิดผนึกด้วย

5. พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา

ในกรณีฉุกเฉินหรือมีเหตุไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นๆ ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายหรือภาวะคับขัน ไม่ว่าการจราจล ภาวะสงคราม ภัยพิบัติ หรือโรคระบาด เป็นต้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนาและแจ้งต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ถึงพินัยกรรมที่ต้องการทำและรายละเอียด เมื่อพยานรับทราบแล้วให้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่เขตหรืออำเภอโดยเร็วที่สุด พร้อมระบุวัน เดือน ปี สถานที่ทำพินัยกรรมและเหตุที่เกิด โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อความที่พยานแจ้งไว้ และพยานต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย

พินัยกรรมแบบที่หนึ่งและแบบที่สอง เป็นรูปแบบที่นิยมเพราะสะดวกและประหยัดเวลา ส่วนแบบที่เหลือ อาจจะยุ่งยากกว่า เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐมาเกี่ยวข้อง มีค่าธรรมเนียม แต่ก็มีน้ำหนัก หากต้องขึ้นเบิกความในศาล
 

อย่างไรก็ดี ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในขณะที่ทำพินัยกรรมต้องมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ส่วนพยานต้องไม่เป็นผู้เยาว์หรือหย่อนความสามารถ และไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก ทั้งนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ก็สามารถกำหนดในพินัยกรรมได้เช่นกัน 

วางแผนชีวิตด้วยประกัน ช่วยให้คุณใช้ชีวิตอย่างมั่นใจ และหมดห่วงกับอนาคตของคนที่คุณรักและห่วงใย
 

ข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม

● การทำพินัยกรรมต้องทำตามที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น

● ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

● พินัยกรรมต้องทำเป็นหนังสือระบุ วัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน

● พยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นไว้ด้วย

● ผู้ทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อความในพินัยกรรมนั้นให้พยานทราบ

เว้นแต่กฎหมายจะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

● ทำพินัยกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง การขูดลบ ตก เติม จะทำให้พินัยกรรมนั้นไม่สมบูรณ์

เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

● พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน

● ตามกฎหมายบุคคลที่ไม่สามารถเป็นพยานในการทำพินัยกรรมได้ แก่ ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง
 

การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันทรัพย์สินและมรดกให้คนในครอบครัว เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและมีผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์และความไว้วางใจภายในครอบครัว 
 
 

บทความ

เลือกประกันชีวิตแบบไหนดีที่เหมาะสมกับตัวเอง

เพื่อให้เข้าใจคำว่าประกันชีวิตสำหรับผู้ที่กำลังสนใจและหาข้อมูลอยู่ในขณะนี้ หน้าที่หลักของประกันคือ “การโอนถ่ายความเสี่ยง”

4 ข้อดีของการส่งมอบมรดกด้วยประกันชีวิต

กรมธรรม์ประกันชีวิตถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยจัดการมรดก อีกทั้งยังมีความคุ้มครองและช่วยบรรเทาความเสียหายให้แก่คนที่อยู่ข้างหลัง

6 กองทุนที่เป็นหลักประกันชีวิตในวัยเกษียณ

ในขณะที่เรายังทำงานและมีรายได้อยู่ ได้คิดวางแผนเรื่องการเงินสำหรับวันที่จะเกษียณแล้วหรือยัง? หากมีเงินไม่เพียงพอดำรงชีวิตในอนาคตก็คงไม่ดีแน่ รู้จักกับ 6 กองทุนที่ช่วยให้มีเงินใช้หลังเกษียณ


 

สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง

ติดต่อเรา 

ให้ ชับบ์ ไลฟ์ ปกป้อง ดูแลคุณ

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อเรา เพื่อรับคําแนะนําเกี่ยวกับการปกป้อง คุ้มครองจากความเสี่ยงต่างๆ